ขมิ้น สมุนไพรไทย คุณประโยชน์มากมาย
ชื่อพ้อง Curcuma domestica
ชื่ออื่น ๆ ขมิ้น, ขมิ้นแกง, ขมิ้นชัน, ขมิ้นหยอก, ขมิ้นหัว, ขี้มิ้น, ตายอ, หมิ้น ,Tumeric,
Curcuma, Yellow Root
ส่วนที่ใช้ : เหง้า
การปลูกขมิ้น
ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ขมิ้นชันชอบอากาศร้อนชื้น ชอบดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี ใช้เหง้าแก่ที่อายุ 7-9 เดือน ตัดเป็นท่อน ให้มีตาท่อนละ 2-5 ตา ปลูกลงแปลงในหลุมขนาด 15 X 15 X 15 เซนติเมตร
การปลูก การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
ควรเก็บขมิ้นในช่วง ที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ช่วงอายุ 9-11 เดือน ประมาณเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์ เพราะเหง้ามีความสมบูรณ์เต็มที่ มีความแกร่ง สามารถเก็บรักษาเหง้าสดไว้ในสภาพปกติได้นาน ห้ามเก็บเกี่ยวในระยะที่ขมิ้นชันเริ่มแตกหน่อ เพราะทำให้มีสารเคอร์คูมินต่ำ คัดแยกและแบ่งอออกจากกัน ตัดรากและส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการทิ้ง อาจใช้แปรงช่วยขัดผิด คัดเลือกส่วนที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลง นำมาล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง จากนั้นคัดแยกส่วนที่จะเก็บรักษาไว้ทำพันธุ์ต่อไป และส่วนของผลผลิตที่จะนำไปทำแห้ง
สารสำคัญในขมิ้น
เหง้าขมิ้นชันประกอบด้วยสารสำคัญประเภทเคอร์คูมินอยด์เป็นสารสีเหลือง ประกอบด้วยเคอร์คูมิน, เดสเมทอกซีเคอร์คูมิน และบิสเดส เมทอกซีเคอร์คูมิน และ น้ำมันหอมระเหย มีสีเหลืองอ่อน มีสารสำคัญคือ ทอร์เมอโรน และซิงจีเบอรีน นอกจากนี้ ยังมีสารกลุ่มเซสควิเทอร์ปีน และโมโนเทอร์ปีน อื่น ๆ อีกหลายชนิด
ผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การศึกษาในสัตว์ทดลองหรือในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดหรือสารสำคัญของขมิ้นชันมีฤทธิ์ทางยาที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้
1. ฤทธิ์ขับน้ำดี กระตุ้นการขับน้ำดีทำให้การย่อยอาหารดีขึ้นช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด
2. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้
3. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
4. ฤทธิ์ลดการอักเสบ
5. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและ antioxidant activity ของสารกลุ่มเคอร์คูมินนอยด์
6. ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์และต้านการเกิดมะเร็งจากการได้รับสารก่อมะเร็งที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ
7.ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
8.ฤทธิ์ต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรที่ใครๆ ก็รู้จัก เพราะมักจะพบในชีวิตประจำวัน โดยนิยมใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสในอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะอาหารทางภาคใต้ เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา แกงกะหรี่ ไก่ทอดขมิ้น เป็นต้น นับเป็นความฉลาดของคนใต้ ที่หาวิธีกินขมิ้นในชีวิตประจำวัน เพราะขมิ้นนั้น ปัจจุบัน มีงานศึกษาวิจัยพบว่ามีคุณค่าต่อสุขภาพยิ่งนัก และยังพบว่าขมิ้นชันโดยเฉพาะในภาคใต้ดีที่สุดในโลก เพราะมีสารสำคัญคือเคอร์คิวมิน และน้ำมันขมิ้นสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีการปลูกขมิ้นทั้งหมด คนสมัยก่อนมีการใช้ประโยชน์จากขมิ้นใน หลายๆ ด้าน ทั้งเป็นยาภายนอก และยาภายใน ในส่วนของยาภายนอกเชื่อว่าขมิ้นชัน ช่วยรักษาแผล ทำให้แผลไม่เป็นหนอง ช่วยสมานแผล ดังนั้น เวลาที่ก่อนจะบวชเป็นพระนาคต้องปลงผมก่อนอุปสมบท หลังจากโกนผมแล้วเขาจะทาหนังศรีษะด้วยขมิ้น เพื่อรักษาบาดแผลที่อาจจะเกิดจากใบมีดโกน ขมิ้นยัง มีสรรพคุณ ในการรักษาพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ในสมัยที่ยังเล็กๆ ตอนยุงกัดเป็นตุ่มแดง คุณยายมักจะใช้ปูนกินกับหมากแต้ม เพราะต้องการฤทธิ์แก้พิษของขมิ้น ที่ผสมอยู่ในปูนที่กินกับหมาก และฤทธิ์ของปูนที่ช่วยให้ขมิ้นติดผิวได้ดีขึ้น (ปูนกินกับหมากของคนโบราณ ได้จากการเผาเปลือกหอยจนร้อนจัด สามารถบดเป็นฝุ่นละเอียดสีขาว แล้วเอาไปผสมกับขมิ้นจะให้สีส้ม หรือเรียกเป็นสีเฉพาะว่า สีปูน)
นอกจากนี้ยังนิยมใช้ขมิ้นเป็นเครื่องสำอาง คนในแถบตอนใต้ของเอเชีย และแถบตะวันออกไกล ใช้ขมิ้นทาผิวหน้าทำให้ผิวหน้านุ่มนวล คนมาเลเซียและคนไทยสมัยก่อนจะใช้ขมิ้นในการอาบน้ำ ทำให้ผิวผ่องยิ่งขึ้น วิธีการอาบน้ำด้วยขมิ้นนั้น จะทาขมิ้นหมักไว้ที่ผิวหนังสักพัก แล้วจึงขัดออกด้วยส้มมะขามเปียก นอกจากทำให้ผิวหนังนุ่มนวลแล้ว ขมิ้นยังมีสรรพคุณในการป้องกันการงอกของขน ผู้หญิงอินเดียจึงใช้ขมิ้นทาผิวหนัง เพื่อป้องกันไม่ให้ขนงอก คนพม่าเชื่อว่าถ้าใช้ขมิ้นผสม สมุนไพร ที่ชื่อทาคาน่า ทาผิวเด็กสาวตั้งแต่ยังเล็กๆ จะทำให้เนื้อผิวละเอียด จนมีคำกล่าวในบรรดาชายไทยว่าสาวจะสวยต้อง “ผิวพม่า นัยน์ตาแขก” ส่วนในการใช้เป็นยารับประทาน เชื่อว่าขมิ้นชันมีสรรพคุณในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย มีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ช่วยย่อยอาหาร มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายและช่วยบำรุงตับ รักษาระบบทางเดินหายใจที่ผิดปกติ หืด ไอ เวียนศรีษะ รักษาอาการปวดและอักเสบเนื่องจากไขข้ออักเสบ เป็นต้น ปัจจุบันมีการศึกษาเพื่อพิสูจน์สรรพคุณของขมิ้น ตามการใช้แบบโบราณ ก็พบว่ามีสรรพคุณมากมายตามที่เคยใช้กันมา เช่น ขมิ้นชันมีสรรพคุณทำให้แผลหายเร็วขึ้น มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เพิ่มภูมิคุ้นกันให้แก่ร่างกาย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง มีฤทธิ์ขับน้ำดีช่วยในการย่อยและป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดี มีฤทธิ์ขับลม และมีการศึกษาการใช้ขมิ้นชันรักษาโรคกระเพาะ ในประเทศไทย (โรงพยาบาลศิริราช) พบว่า ได้ผลดีพอควร มีการค้นพบสรรพคุณใหม่ๆ ของขมิ้นชันอีกมากมาย เช่น การป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด การชลอความแก่ การเป็นสารต้านมะเร็งและเนื้องอกต่างๆ พบว่า การกินอาหารผสมขมิ้นสามารถ ทำลายเชื้อไวรัสที่ผ่านมาทางอาหารได้ รวมทั้งสามารถป้องกันมะเร็งจากสารก่อมะเร็งต่างๆ และยังมีสรรพคุณในการต้านไวรัส โดยเฉพาะเชื้อ HIV อันเป็นต้นเหตุของโรคเอดส์ ขมิ้นชันจึงเป็นอีกความหวังหนึ่งของผู้ป่วยเอดส์ ขมิ้นชันยังมีคุณสมบัติ ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและลดปฏิกิริยาการแพ้ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้และเป็นหวัดบ่อยๆ สมควรกินอาหารใต้ที่ใส่ขมิ้นทุก วันจะได้แข็งแรง ตอนนี้สงสารหมอโรคภูมิแพ้ เพราะคนเป็นกันมากเหลือเกินและเราต้องขาดดุลยารักษาโรคภูมิแพ้ ที่รักษาไม่หายสักที่ปีละมากมายมหาศาล หันมาลองกินขมิ้นชันกันดีกว่านะครับ
หากจะหันกลับมากินขมิ้นชันกันนั้น ควรเลือกขมิ้นชันที่ได้คุณภาพ คือ ขมิ้นชันต้องมีอายุอย่างน้อย 9-12 เดือน จึงสามารถขุดเหง้ามาทำยาได้ และต้องไม่เก็บไว้นานเกินไป จนน้ำมันหอมระเหยหายหมด และต้องเก็บให้พ้นแสง เพราะแสงจะมีปฏิกิริยากับเคอร์คิวมิน อันเป็นสารสำคัญในขมิ้นชัน หากจะกินขมิ้นอย่าง เป็นล่ำเป็นสันก็ควรปลูกเอง ดูเอง ขุดมาใช้เองดีที่สุด ถูกดี และควบคุมคุณภาพได้ คนที่ทำไม่ได้ก็จงเลือกแหล่งซื้อที่ไว้ใจได้ ปัจจุบันขมิ้นชันแคปซูล อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเป็นยาในงานสาธารณสุขมูลฐาน จึงสามารถที่จะเบิกค่ายาจากระบบประกันได้ และแคปซูลขมิ้นชั้น ยังสามารถวางจำหน่ายได้ในร้านค้าทั่วไป หากแพทย์ไทย คนไทยช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์จากขมิ้นชัน สุขภาพ เศรษฐกิจ ของคนไทย ของประเทศไทยก็คงจะดีขึ้นอย่างแน่นอน