ทำไมคนเราถึงแก่

0

อายุเท่าใดจึงจะเรียกว่าแก่

ปัญหาสำคัญที่ถกเถียงกันมามาก ก็คือ เมื่อใดหรืออายุสักเท่าใดจึงจะเรียกได้ว่า แก่ และคนเราก็ไม่ยอมที่จะถูกเรียกว่าคนแก่แม้ว่าจะอายุมากเท่าใด ก็ไม่อยากให้เรียกว่าคนแก่ หรือ ผู้เฒ่า ถูกใคร เรียกว่า ตาเฒ่า ยายเฒ่า แล้ว แสลงหูนัก

คำว่า คนแก่ ความจริงก็เป็นคำที่น่าฟัง และถูกต้องตามความจริง แต่คนเราทั้งเกลียดทั้งกลัวที่จะถูกเรียกว่าคนแก่ เพราะคำว่า แก่ทำให้คิดถึงว่า เมื่อแก่แล้ว ก็หมายความว่า ต่อไปนี้ก็คือ ตาย ซึ่งเป็นคำที่น่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก หรือเป็นคนแก่แล้วก็ต้องประสบความเป็นไปต่างๆ ที่ไม่ปรารถนา

ยิ่งเมื่อแก่แล้ว ถูกเรียกว่า คนชรา ยิ่งเกลียดยิ่งกลัว ฟังแล้วเหมือนคนหมดสภาพแล้วทุกอย่าง บางทียังมีคนแกล้งเรียกว่าคน “วัยดึก” เสียอีกด้วย

คนแก่จึงคิดเรียกให้ตัวสบายใจไปต่างๆ เช่น ผู้มีอาวุโสบ้าง ผู้มีอายุบ้าง คนอายุยืนบ้าง ในที่สุดเวลานี้ตกลงกันให้เรียกว่า ผู้สูงอายุ

เมื่อใดจึงจะเรียกว่า แก่ ดูเหมือนจะพูดให้แน่ลงไปไม่ได้ เพราะโดยทั่วไปบางคนอายุไม่เท่าใดก็ยอมแก่แล้ว แต่บางคนอายุมากแล้ว ก็ยังไม่ยอมรับว่าตัวแก่ ทั้งๆที่คนอื่นเห็นว่าแก่

ชาติต่างๆ และคนเผ่าต่างๆ ถืออายุ ถือสภาพหรือความสามารถของคนเอาไว้ให้อยู่ในอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่เด็กเกิดมาไปจนถึงที่สุด ซึ่งมิได้ต่างๆกันไป

คนจีน ถืออายุ ที่จะเรียกคนในแต่ละอายุดังนี้

ตั้งแต่เกิดจนถึง 3 ขวบเด็กชายเรียกว่า “ไฮ้” (แปลว่า ยังเลี้ยงดูอยู่)

เด็กหญิงเรียกว่า “เอ็ง” (แปลว่า ยังเป็นเด็กแดงๆ)

เด็กอายุภายใน 10 ปี เรียกว่า อิ่ว แปลว่า เยาว์

เด็กอายุภายใน 15 ปี เรียกว่า เซ่งท้ง แปลว่า เด็กโต

อายุภายใน 20 ปีเรียกว่า เยี้ยก่วน แปลว่า วัยหนุ่ม

อายุภายใน 30 ปี เรียกว่า จ่าง แปลว่า ชายฉกรรจ์

อายุภายใน 40 ปีเรียกว่า เคี้ยง แปลว่า แข็งแรง

อายุภายใน 50 ปีเรียกว่าไหง แปลว่า แก่

อายุภายใน 60 ปีเรียกว่า คี้ แปลว่า ชรา

อายุภายใน 70 ปีเรียกว่าเหลา แปลว่า เฒ่า

อายุภายใน 80 ปี เรียกว่า เตี้ยด แปลว่า แก่หง่อม

อายุภายใน 90 ปี เรียกว่า เม้า แปลว่า วัยหลงลืม

อายุภายใน 100 ปี เรียกว่า คีอี้ แปลว่า ปราศจากความรู้สึก

คนไทย ถือเอาว่าคนเรานั้นมี 3 วัยคือ

ปฐมวัย ตั้งแต่คลอด จนถึงอายุ 33 ปี

มัชฌิมวัย ตั้งแต่อายุ 34-67 ปี

ปัจฉิมวัย ตั้งแต่อายุ 68-100 ปี

คนไทยทางเหนือ เปรียบเทียบสภาพและความสามารถตามอายุดังนี้

แรกเกิด – อายุ 10 ปี             อาบน้ำบ่หนาว

อายุ 11 – 20 ปี                      แนบสาวบ่เบื่อ

อายุ 21 – 30 ปี                      ตื่นเมื่อก่อนไก่

อายุ 31 – 40 ปี                       มือไขว่หน้าผากคะนึง

อายุ 41- 50 ปี                        ไปบ่ถึงทอดนุ่ย

อายุ 51 – 60 ปี                      เป่าปี่เป่าขลุ่ยบ่ดัง

อายุ 61 – 70 ปี                      เนื้อหนังเป็นลูกกรอก

อายุ 71 – 80 ปี                      หนักหนวกมาหู

อายุ 81 – 90 ปี                       ลูกหลานดูนั่งให้

อายุ 91 – 100 ปี                    ไข้ก็ตาย – บ่ไข้ก็ตาย

บางทีก็เปรียบเทียบต่างไปจากที่ว่านี้บ้าง แต่ก็ดูเหมือนจะมีคำกล่าวไว้แต่ละอายุคล้ายๆกัน คือ

อายุสิบปี                                                อาบน้ำบ่หนาว

ซาวปี                                      เว้าสาวบ่เบื่อ

สามสิบปี                                                ฮู้เมื่อก่อนไก่

สี่สิบปี                                     ไปไหนทอดเขา

ห้าสิบปี                                  ไปนามาลุย

หกสิบปี                                  เป่าขลุ่ยบ่ดัง

เจ็ดสิบปี                                 ตีระฆังบ่เหง่ง

แปดสิบปี                                               ร้องเพลงบ่เพราะ

เก้าสิบปี                                 หัวเราะบ่ดัง

ร้อยปี                                      ไข้ก็ตาย – บ่ไข้ก็ตาย

ได้กล่าวแล้วว่า คนเราถ้าจะมีใครว่าแก่แล้ว บางทีก็เห็นจะยอมได้ยากสักหน่อย เพราะการที่จะยอมแก่ขึ้นอยู่กับสาเหตุหลายอย่าง เช่น ความรู้สึกตัวของตัวเอง ความรู้สึกในสายตาหรือความเห็นของคนอื่นๆ กับความยินยอมพร้อมใจที่ยอมรับว่าตนแก่แล้วด้วย

มีหลักเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณาว่า ผู้ใดแก่แล้วหรือเป็นผู้สูงอายุนั้น อาจมีหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา 3 วิธี

วิธีที่ 1 ถือเอาตามอายุ

การถือเอาตามอายุนี้ บางคนก็กำหนดให้ถือว่า อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ถือว่าแก่ แต่บางคนก็ให้ถือว่าจะเรียกว่า แก่ ต้องมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เลยมีผู้กำหนดให้ไว้อย่างกว้างๆ ว่า คนที่จะถือว่าแก่ แล้วนั้น คือผู้ที่มีอายุในระหว่าง 70 ปี บวกลบ 10 ปี ขึ้นไป (70+- 10 ปี) นับว่าให้ไว้กว้าง

วิธีที่ 2 ถือเอาตามอายุที่ยังสามารถปฏิบัติงานได้

คือ ถือว่าคนใดอายุเลยจากการที่ปฏิบัติงานได้ตามเกษียณอายุของงานก็ให้ถือว่า แก่  แล้ว การที่จะถือว่าเมื่อเกษียณอายุของงานราชการหรืองานประจำแล้ว เรียกได้ว่าแก่นั้น ถือเอาเป็นแน่นอนไม่ได้  การเกษียณงานนี้แตกต่างไปได้ตามเชื้อชาติ กาลสมัย อาชีพ สภาพความเป็นอยู่ของแต่ละบุคคลบางอาชีพยังคงทำอาชีพไปได้โดยไม่งด แต่ยังคงยึดหน้าที่หรือทำงานนั้นไว้ ไม่ว่าจะมีอายุมากเท่าใด บางคนปลดเกษียณแล้วยังสามารถปฏิบัติงานได้ ตามปรกติ และได้งานดีก็มีอยู่มาก วิธีนี้คงถือเป็นมาตราฐานไม่ได้

วิธีที่ 3 ถือเอาสุขภาพของร่างกาย เมื่อมีความเสื่อมเด่นชัดกว่าการเจริญ

ในเมื่อเราได้ถือกันว่า ความแก่ ก็คือการมีสภาพของเสื่อมของร่างกาย ดังนั้น เมื่อร่างกายมีลักษณะของการเสื่อมโทรมเด่นชัดเมื่อใด เมื่อนั้นก็ถือว่าแก่แล้ว วิธีนี้ก็คงไม่มีใครยอมรับ เพราะสภาพของความเสื่อมโทรมของร่างกายนี้มักจะปรากฎขึ้นมาตั้งแต่วัยกลางคน ซึ่งก็ถือกันว่าอายุยังไม่มากนัก และบางคนอายุที่เริ่มเสื่อมนั้นอาจอายุมากน้อยต่างกันด้วย วิธีนี้จึงไม่มีใครเห็นด้วย และไม่ใช้กัน

อย่างไรก็ตาม คนแก่ หรือผู้สูงอายุนี้ ฝรั่งก็ถือว่า คือ คนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สำหรับคนไทย เราถือว่าผู้สูงอายุ คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งตรงกับอายุคนเกษียณราชการด้วย

ในเมื่อความแก่นั้นคือ การมีความเสื่อมโทรมของร่างกาย เราก็พอจะรู้ได้ว่าตัวเริ่มจะแก่ หรือแก่เกินวัยได้ ในเมื่อมีอาการที่แสดงความเสื่อมโทรมเตือนให้เราได้รู้ อาการเหล่านี้ก็เป็นอาการของการมีโรคาพยาธิในร่างกายที่จะทำให้มีความเสื่อมโทรมของร่างกายต่อไป เช่น ปวดศรีษะ มึนงง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อึดอัดในท้อง ซีดลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียง่าย นอนไม่หลับ วิตกกังวลใจ ซึมเศร้า เหงาหงอย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บอก ผิวแห้ง ผมหงอก ผมร่วง ตามัว ฯลฯ อาการมีได้สารพัด ซึ่งเป็นอาการของความเสื่อม

ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเรามีผู้สูงอายุ คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนมากขึ้นๆ ตามลำดับ เมื่อจำนวนของประชากรเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราการเกิด เพิ่มขึ้นมาก อัตราการตายลดน้อยลง ผู้ที่จะมีชีวิตยืนยาวไปจนเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น ก็เพราะความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และการสาธารณสุข ประชาชนก็รู้จักรักษาสุขภาพอนามัยดีขึ้นมากด้วย คนจึงมีอายุยืนขึ้นกว่าแต่ก่อนๆ

การมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นๆ ต่อไปย่อมจะเกิดปัญหาได้มากในหลายด้าน เช่น ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาแรงงาน ที่อยู่อาศัย และที่สำคัญคือ ปัญหาของสุขภาพอนามัยและโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เรื่องชีวิตของผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องที่ควรรู้ควรศึกษา เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายนี้อย่างเป็นสุข สะดวกสบายได้ให้ดีที่สุด

 

 

1 2 3
Share.

About Author