ความแตกต่างของคำว่า นิสิต กับ นักศึกษา
ผมสงสัยจังเลยว่าคำว่า นิสิต กับ นักศึกษา แตก ต่างกันยังไง ทำไมบางมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์ ม.นเรศวร จึงเรียกผู้ที่กำลังศึกษาว่านิสิต แต่มหาวิทยาลัย/สถาบันอื่นใช้นักศึกษา และคำว่านิสิตมีความหมาย ประวัติความเป็นมา หลักเกณฑ์ที่จะใช้อย่างไร ช่วยตอบด้วยนะครับ/เด็ก
ตอบ คำเรียก “นิสิต” และ “นักศึกษา” เริ่มมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีบัญญัติคำเพื่อเรียกบุคคลที่เข้าเรียนใน 2 ลักษณะที่แตกต่างกัน อาจารย์สวัสดิ์ จงกล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ประจำหอ ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึง 2 คำนี้ไว้ว่า ในอดีตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดสอนทั้งเยาวชนที่เป็นเด็กนักเรียนทั่วไป และผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้วเข้ามาเรียนเพื่อเพิ่มคุณวุฒิ จึงต้องมีการเรียกสถานภาพของผู้เรียนให้ต่างกัน
“นิสิต” แปลว่าผู้อาศัย ครั้งกระโน้นนักเรียนที่มาเรียนจุฬาฯ ถือว่าอยู่นอกเมือง คนที่มาเรียนส่วนใหญ่ก็จะมาอยู่หอพักมหาวิทยาลัย เรียกเป็นนิสิต นอกจากนี้การเรียนการสอนในบางคณะ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องอาศัยห้องทดลองห้องปฏิบัติการ โรงฝึกงานต่างๆ ไม่เพียงเรียนภาคทฤษฎี สอดคล้องต่อคำเรียกนิสิต อันความหมายหนึ่งแปลว่าศิษย์ที่เล่าเรียนอยู่ในสำนัก
ส่วน “นักศึกษา” ซึ่งจุฬาฯ มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2473 เป็นศัพท์เรียกผู้มาเรียนเพิ่มวุฒิ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ทำงานแล้ว บางเวลาเรียนก็ไม่อาจเข้าฟังเลคเชอร์ได้เนื่องจากต้องทำงานประจำ และไม่ได้พักอาศัยในมหาวิทยาลัย ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งภายหลัง ใช้คำว่านักศึกษาสำหรับทุกบุคคลที่เข้าเรียน เรียกว่าเป็นผู้ที่มาศึกษา ทำให้เกิดคำว่านักศึกษาขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นนักศึกษาอาศัยตำราเรียนเป็นหลักไม่ต้องฟังเลคเชอร์
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่ใช้คำเรียกนิสิตมีอยู่ 3 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทั้งสองมหาวิทยาลัยหลัง ผู้เรียนในสมัยก่อนต้องอาศัยอยู่หอพักเช่นกัน เพราะมหาวิทยาลัยอยู่นอกเมืองเช่นเดียวกับจุฬาฯ ในอดีต
สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ้ามองในแง่ความหมายแล้วการศึกษาของเกษตรฯ ต้องอาศัยห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการเหมือนกัน แล้วก็มีหอพักให้ผู้ที่เรียนได้อาศัย จึงใช้คำว่านิสิต
กรณีของมหาวิทยาลัยนเรศวร เรียกนิสิตสืบเนื่องจากครั้งยังเป็นวิทยาเขตหนึ่งของศรีนครินทรวิโรฒ (วิทยาเขตพิษณุโลก) ซึ่งทุกวิทยาเขตใช้คำเรียกนิสิตตามวิทยาเขตแรกคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิ โรฒปร ะสานมิตร (ซึ่งอยู่ชานกรุงเทพฯ ยุคโน้น) ผู้มาเรียนอยู่กินนอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเมื่อทุกวิทยาเขตเป็นอิสระ บางแห่งอาจคงคำเรียกนิสิต บางแห่งอาจใช้คำนักศึกษาแทน แต่ถ้าแต่เมื่อใดก็ตามที่ใช้ มศว นำหน้าก็ใช้คำว่า นิสิต
สรุปความหมายตามจำกัดความของพจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547
“นิสิต” คือผู้อาศัย, ศิษย์ที่เล่าเรียนอยู่ในสำนัก, ผู้ที่ศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “นักศึกษา” คือ ผู้เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
——————————————————————- ———————————————————————
คัดลอกจาก : บทความรู้ไปโม้ด ของ น้าชาติ ประชาชื่น หนังสือพิมพ์มติชน 11 ตุลาคม 2548