นอ่านน่ะครับ มีประโยชน์มากๆ เตือนสติเราได้ดีทีเดียว….ยอดนักต้มตุ๋นกับเครื่องทุ่
นแรงไฮเทค….
นักต้มตุ๋นแห่งประวัติศาสตร์ออกโรงเตือนคนในสังคมสมัยใหม่ว่าการแชร์ข้อมูลบนโซเชียลเน็ตเวิร์กมากเกินไปจะเป็นภัยกับตัว…
..(ตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนรายสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2556)..
ใครที่เคยได้อ่านหนังสือเรื่อง “แฟรงค์ อบาเนล ยอดนักตุ๋น” หรือชมภาพยนตร์เรื่อง Catch me if you can ที่สร้างจากชีวิตจริงของเขาและนำแสดงโดย ลิโอนาโด ดิคาปริโอ ก็คงจะรู้จักและคุ้นเคยกับผลงานชิ้นโบแดงของอบาเนลที่ทำให้ FBI ของสหรัฐฯ ต้องกุมขมับมาแล้วหลายต่อหลายครั้งเป็นอย่างดี
แฟรงค์ อบาเนล นับเป็นนักต้มตุ๋นในช่วงยุค ’60 ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง เขาสวมรอยเป็นบุคคลในสายอาชีพต่างๆ มาแล้วมากมาย ทั้งนักบิน แพทย์ ผู้ช่วยครู และทนายความ โดยที่ตัวเขาเองไม่มีความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เหล่านั้นเลยเสียด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถปลอมแปลงเอกสารและลอกเลียนแบบท่าทางของคนที่เขาอยากจะเป็นได้อย่างแนบเนียน ตบตาทั้งคนสามัญและองค์กรใหญ่ระดับโลกชนิดที่ไม่มีใครนึกสงสัย เขาปลอมเช็คโกงเงินไปได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง 20 ปี และแม้ว่าจะถูกจับได้ในที่สุด แต่อบาเนลก็รับโทษจำคุกอยู่เพียงแค่ไม่กี่ปี ก็รับคำเชิญของรัฐบาลออกมาเป็นที่ปรึกษาและครูผู้สอนเจ้าหน้าที่ FBI และบริษัทด้านการเงินต่างๆ ให้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมนักต้มตุ๋นอย่างเขา เพราะประสบการณ์สวมรอยอันลือเลื่องของเขานั้นมีค่าเกินกว่าจะปล่อยให้เน่าเปื่อยแห้งกรังอยู่หลังลูกกรงเฉยๆ และเขาก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งวงการนักตุ๋นมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
แฟรงค์ อาบาเนล ในวัย 60 กว่าตอนนี้ เพิ่งจะออกมาเตือนคนในสังคมสมัยใหม่ว่า ข้อมูลต่างๆ ที่พวกเราโพสต์กันเมามันบนโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กนั้น เปรียบเสมือนกับคำเชื้อเชิญให้นักต้มตุ๋นอย่างเขาเปิดประตูบ้านและขโมยตัวตนเราไปใช้ได้ตามใจชอบ
เขาพูดไว้ในงานสัมมนาในกรุงลอนดอนว่า เล่ห์กลเพทุบายต่างๆ ที่เขาเคยใช้เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วในสมัยที่เขายังเป็นวัยรุ่นอยู่นั้น เฟซบุ๊กช่วยให้สามารถทำได้ง่ายกว่าเดิมถึง 4,000 เท่า สำหรับตัวเขาเองเพียงแค่มีข้อมูลวันเกิดและสถานที่เกิดที่คนทั่วไปมักจะระบุไว้ให้คนอื่นได้เห็นในโพรไฟล์อยู่แล้ว เขาก็มั่นใจไปแล้ว 98 เปอร์เซ็นต์ว่า เขาจะคิดค้นวิธีในการขโมยอัตลักษณ์ หรือ identity ของคนๆ นั้นได้แน่นอน และทุกๆ ครั้งที่เราโพสต์ว่าเราชอบ หรือไม่ชอบ อะไรบางอย่างบนหน้าเฟซบุ๊ก ก็เท่ากับเป็นการบอกข้อมูลส่วนตัวของเราให้คนอื่นได้รับรู้กันถ้วนหน้า อย่างเช่น ภูมิหลังด้านเชื้อชาติ ประวัติการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งรสนิยมทางเพศ และสิ่งเหล่านั้นก็จะติดตัวเราไปตลอด ส่วนตัวเขาเองนั้นคงป้องกันคนมาหักเหลี่ยมโหด ก็เลยเลือกที่จะไม่มีโพรไฟล์อยู่บนเฟซบุ๊ก และคอยกำกับและสอนลูกๆ ที่เล่นเฟซบุ๊กอย่างใกล้ชิดว่าต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง
ไปดูอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกัน ในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึงนี้ จะมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่น่าชมมากๆ เข้าฉาย ชื่อของภาพยนตร์คือ The Bling Ring ที่เขียนบทและกำกับโดย Sofia Coppola โดยมีนักแสดงชื่อดังอย่าง Emma Watson ร่วมแสดงด้วย เนื้อหาภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่จะทำให้เราได้หนาวๆ ร้อนๆ ไปกับการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้นไปอีก เพราะ The Bling Ring เป็นการนำเสนอชีวิตของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกหลายคนทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่คลั่งใคล้ชื่อเสียงและสิ่งของราคาแพง พวกเขาย่องเบาไปยกเค้าข้าวของราคาแพงจากบ้านเซเล็บบริตี้หลายต่อหลายคนในย่านฮอลลีวูด ในช่วงตั้งแต่ปี 2008 จนถึง 2009 และกวาดเงินสดและของมีค่ามาได้มูลค่าสูงถึง 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ว่ากันว่าส่วนใหญ่มาจากบ้านของปารีส ฮิลตัน ที่วัยรุ่นกลุ่มนี้เลือกเป็นเป้าหมายแรก เพราะภาพลักษณ์ของเธอที่สื่อสะท้อนออกมาคือเศรษฐินีที่ไร้สมอง โจรกลุ่มนี้จึงคาดเดาว่าเธอน่าจะไม่ฉลาดพอที่จะมีวิธีดูแลรักษาความปลอดภัยในบ้านอย่างรัดกุม แล้วก็โป๊ะเชะ เมื่อไปถึงนอกจากจะมีกุญแจซ่อนไว้ในจุดที่เดาง่ายที่สุดอย่างใต้พรมเช็ดเท้าแล้ว ประตูบ้านก็ยังไม่ล็อกอีกต่างหาก แก็งค์ Bling Ring จึงแวะเวียนไปหยิบยืมเงินและเสื้อผ้าแบรนด์เนมมาใช้ได้ตั้งหลายครั้ง และถ้าไม่ใช่ว่าโลภมากกวาดเครื่องเพชรมูลค่าตั้งเกือบ 2 ล้านดอลลาร์ไปในครั้งสุดท้าย ปารีส ฮิลตัน ก็คงจะไม่รู้ตัวและรีบวิ่งโร่ไปแจ้งความในที่สุด
ส่วนสาเหตุที่บอกว่าเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับคำเตือนจากแฟรงค์ อบาเนล ก็คือ กลุ่มมิจฉาชีพ Bling Ring กลุ่มนี้จะระบุเป้าหมายพิกัดบ้านพักอาศัยของเซเล็บบริตี้ โดยดูข้อมูลจาก Google Maps หรือ Google Earth และเว็บไซต์ที่บอกที่อยู่ของดารา จากนั้นเมื่อรู้ว่าใครอยู่ที่ไหนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเฝ้าหาช่องว่างที่เจ้าของบ้านจะไม่อยู่บ้าน ซึ่งพวกเขาใช้วิธีการสังเกตการณ์เก็บข้อมูลจากตารางอีเวนท์ของดารา ว่าใครไปปรากฎกายอยู่ที่งานไหน ช่วงเวลาไหน รวมถึงเช็คสถานะจากทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ว่าเซเล็บบริตี้เหล่านั้นไปเช็คอินบนโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่นอกบ้านหรือไม่
ใครจะไปนึก แค่อยากจะอัพเดตให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังทำอะไรเจ๋งๆ อยู่ที่ไหน แต่กลับกลายเป็นบูมเมอแรงเหวี่ยงกลับเข้ามาให้โทษเสียอย่างนั้น
ในช่วงที่แอปพลิเคชันเช็คอินตามสถานที่ต่างๆ อย่าง Foursquare หรือ Gowalla กำลังโด่งดังขึ้นมาใหม่ๆ นั้น ถึงกับต้องมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นห่วงเป็นใยในพฤติกรรมชอบบอกพิกัดตัวเองของผู้คนบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก จนสร้างเว็บไซต์ชื่อ Please Rob Me (มาปล้นฉันเถอะ) ขึ้นมา เพื่อให้ลองใช้แอคเคานท์ทวิตเตอร์ของตัวเองมาตรวจดูว่าคนอื่นเขาจะรู้ตารางอยู่-ไม่อยู่บ้านของเราได้ละเอียดแค่ไหน ทำให้มีบางคนที่เริ่มตระหนักถึงอันตรายเรื่องนี้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช็คอินเล็กๆ น้อยๆ เช่น จะเช็คอินก็ต่อเมื่อออกจากสถานที่นั้นๆ แล้ว ในขณะที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวอะไร
สำหรับใครที่นึกว่า เย้ รอดตัวแล้ว เพราะฉันไม่ชอบเช็คอินหรือป่าวประกาศบอกชาวบ้านชาวช่องบนเฟซบุ๊กว่าไม่อยู่บ้านตอนไหนบ้าง อย่าเพิ่งย่ามใจไป เพราะการโจรกรรมทรัพย์สินในบ้านไม่ได้เป็นเพียงอาชญากรรมรูปแบบเดียวที่เฟซบุ๊กเปิดช่องทางให้ทำได้ อย่าลืมว่าแฟรงค์ อบาเนล เน้นเรื่องการให้ข้อมูลส่วนตัวที่ปูพรมให้คนเข้ามาแอบอ้างสวมรอยและขโมยอัตลักษณ์ของเรานั้นก็เป็นอาชญากรรมที่น่ากลัวไม่แพ้กันเลย และถึงแม้ว่าเราจะมั่นใจว่าไม่ได้โพสต์อะไรมากมายเกินไปแน่ๆ แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างการกด Like ก็มากพอที่จะทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเรารั่วไหลออกไปได้ไม่น้อย
เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งจะมีการวิจัยกันไปว่า การกด Like สิ่งต่างๆ บนเฟซบุ๊ก สามารถนำมาคาดประเมินข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อชาติ อายุ ไอคิว รสนิยมทางเพศ และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ อีกมากมายได้อย่างแม่นยำ โดนที่นักวิจัยพัฒนาอัลกอริธึมที่ใช้ข้อมูลมาจากการกด Like ของผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊ก เพียงแค่ดูว่าใครกด Like อะไรบ้าง ก็สามารถนำข้อมูลมาแยกผู้หญิงออกจากผู้ชายได้ด้วยความแม่นยำสูงถึง 88 เปอร์เซ็นต์ และแยกคนขาวออกจากคนผิวสี ได้แม่นยำกว่านั้นอีก ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่องรสนิยมทางเพศนั้น ไม่ได้วัดกันง่ายๆ แค่การกด Like หน้าเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแต่งงานของชาวเกย์ หรือกด Like ภาพวาบหวิวอะไรทำนองนั้น แต่คาดคะเนกันจากละครโทรทัศน์ที่ชอบดูและเพลงที่ชอบฟังก็เพียงพอแล้วที่จะบอกได้ว่าใครเป็นหรือไม่ เป็นเกย์ เช่นเดียวกับการวัดไอคิว ที่ดูเอาจากการกด Like รายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ เขาบอกว่าคนไอคิวสูงจะชอบดู The Colbert Report, The Godfather และ To Kill a Mockingbird ส่วนคนที่ไอคิวต่ำหน่อย จะชอบมอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson และ Bret Michaels จากวงร็อก The Poison (ลองไปวิเคราะห์สาเหตุกันต่อดู)
การวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการกด Like ของผู้ใช้งาน ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้เว้นเสียแต่ว่าผู้ใช้งานจะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้แน่นหนาขึ้น นับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการทำโฆษณาหรือการตลาด แต่ลองคิดดูว่ามันน่าสยองขนาดไหนที่การกด Like จะเป็นการเผยข้อมูลส่วนตัวของเราออกไปอยู่ในกำมือของใครที่ต่อใครที่จะมีเจตนาดีหรือร้ายก็ไม่รู้ เพราะการกด Like นั้นมันช่างน่าเย้ายวนเหลือเกิน คลิกง่ายและบ่งบอกอารมณ์ได้หลากหลายประเภท กว่าจะรู้ตัวอีกที คลังข้อมูลการคลิก Like ของเราก็มากองกันมหาศาลเป็นภูเขา พร้อมสำหรับให้คนไม่หวังดีหยิบไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายดาย
ถ้ายังไม่แน่ใจว่าตัวเองมีพฤติกรรมเสี่ยงของการแชร์ข้อมูลบนโซเชียลเน็ตเวิร์กมากเกินไปจนอาจนำไปสู่อันตรายด้านการเงินหรือการถูกขโมยอัตลักษณ์หรือเปล่า ลองมาทำ Check-list ที่ซู่ชิงรวบรวมมาให้สักหน่อยดีไหมคะ
..คุณมีพฤติกรรมแชร์สิ่งเหล่านี้หรือไม่..
– วันเกิด ปีเกิด เวลาเกิด สถานที่เกิด (ถ้าจำได้คงระบุเวลาตกฟากไว้ด้วย)
– เบอร์โทรศัพท์
– เช็คอินจากสถานที่ทุกแห่งที่ไป
– เช็คอินที่บ้าน (บ้านแสนสุขของแอ๋ม คฤหาสน์ของบอย คอนโดสุดหรูของมินท์)
– สเตตัส “สามีไม่อยู่บ้านสองวัน คิดถึงจัง”
– ข้อมูลเรื่องการลงทุนส่วนตัว
– ชื่อสัตว์เลี้ยงตัวแรก ชื่อแม่ ชื่อโรงเรียนสมัยอนุบาล (มักใช้ตั้งเป็นคำถามยอดฮิตเวลาลืมพาสเวิร์ด)
– ภาพแคปเจอร์โมเมนต์อบอุ่นของครอบครัว จากกล้องวงจรปิดภายในบ้าน
– ตารางท่องเที่ยวช่วงพักร้อน
– แอปพลิเคชันทำนายนิสัยจากกรุ๊ปเลือดและวันเกิด
– ภาพถ่ายลูกน้อยทุกอิริยาบถ อัพขึ้นเฟซบุ๊กทุกๆ หนึ่งชั่วโมง
– ภาพทีวีจอยักษ์ สเตอริโอราคาแพง คอลเล็กชันแก็ดเจ็ตไฮเทค
– ภาพกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้าแบรนด์เนม กับเมคอัพอีกหนึ่งกุรุส
– พาสเวิร์ด
นี่เป็นเพียงตัวอย่างยิบย่อยเท่านั้น แต่ถ้าคุณติ๊กเครื่องหมายถูกไปแล้วมากกว่า 5 ช่อง ก็ควรรีบทบทวนพฤติกรรมใหม่ทันที หรือเปลี่ยนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้รัดกุมมากขึ้น มิเช่นนั้นก็เอาตัวเองออกมาจากโซเชียลเน็ตเวิร์กเสียก็ได้
….ขนาด แฟรงค์ อบาเนล ก็ยังไม่ยอมเล่นเฟซบุ๊กเลยนี่นา….